เปิดโลกการลงทุนของคนยุค Gen Y


เปิดโลกการลงทุน ยุค gen y

หนังสือ “เปิดโลกการลงทุนของคนยุค Gen Y”

รายละเอียด

ผู้เขียน :  เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

สำนักพิมพ์ : Post Books

ราคา : 145 บาท

เล่าเรื่องเนื้อหา

ภายในเล่มจะแบ่งออกเป็น 15 บท (ขอแปะเป็นรูปเลยละกันนะครับ)

เนื้อหาภายในเล่ม

iYom reviews

(ขอบ่นก่อนเริ่ม) ท่ามกลางหนังสือการลงทุนที่เกลื่อนเต็มท้องตลาดมากมายในตอนนี้  iYom เวลาไปงานสัปดาห์หนังสือ หมายใจว่าจะไปหาติดไม้ติดมือมาสักเล่มสองเล่ม บอกตรงว่าเลือกไม่ถูกเลยครับ หนังสือก็แยะ คน (แมร่ง) ก็ยืนแช่กันหน้าบู๊ทหนังสือก็เยอะ (โดยเฉพาะบู๊ท SE-ED) เราจะไปยืนแช่บ้าง ไม่มีจังหวะให้แทรกตัวเลยไม่ได้เลยสักกะเล่ม ไปได้เล่มนี้ที่บู๊ท Post Books ไม่ได้รู้จักคนเขียนเลยด้วยซ้ำ ใครหว่า เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ แต่ไปสะดุดกับชื่อ ดร.นิเวศน์ ที่มาเขียนคำนิยามให้ จึงคว้าติดมือมาสักกะหน่อย (ให้อุ่นใจว่ามีหนังสือการลงทุนให้อ่านบ้าง ฮ่าฮ่า)

หนังสือ เปิดโลกการลงทุนของคนยุค Gen Y เล่มนี้ ที่จริงมันน่าจะเป็น แนวคิด+กลยุทธ์การลงทุนใน ศตวรรษที่ 21 แต่ถ้าจะตั้งชื่อแบบนี้ คงไม่โดนใจวัยรุ่นเท่าไหร่ โดยเฉพาะ ยุคนี้ที่เหล่า Gen Y เริ่มจะเข้าสู่ตลาดมากขึ้นทั้งในด้านการบริโภค และในโลกของการลงทุน จึงเอาชื่อ Gen Y มาเป็นตัวดึงดูด (แสดงว่าเรายังมีความเป็น Gen Y อยู่นะเนี่ยะ)  ในส่วนเนื้อหาภายในต้องบอกว่าอ่านทำความเข้าใจง่ายทีเดียว เพราะในแต่ละบทผู้เขียนเค้าแบ่งเป็นข้อๆ อธิบายกันให้อ่านอย่างชัดเจนกันเลยทีเดียว และยังมีบางบทที่หยิบยกเอาเรื่องราวที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับการลงทุนเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ทั้งการเสียกรุงครั้งที่สอง หรือการบริหารจัดการประเทศเยอรมนีในสมัย Bismarck หรือไม่ก็เรื่องกลยุทธ์จีนในการทำศึก “จูงแพะติดมือ” หรือแม้แต่เรื่องความรัก คุณเจริญชัย ก็นำมาอธิบายผูกโยงเพื่อเปลี่ยนเป็นหลักการลงทุนได้อย่างลงตัวทีเดียว นิยังไม่รวมถึงบทที่ว่าด้วยราคาทอง ที่มองไว้ได้ค่อนข้างแม่นยำทีเดียว งั้นไปดูกันว่ามีอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง ซึ่งขอสรุปแยกเป็นสองส่วน หนึ่งเป็นพวกแนวคิด สองเป็นกลยุทธ์การลงทุน

แนวคิด

– คนที่สามารถนำความรู้ในด้านอื่นมาประยุกต์เข้ากับการลงทุน จะเป็นคนที่มีแต้มต่อคนที่เน้นแต่ทฤษฏีการลงทุนเพียงด้านเดียว

– โลกใบนี้มีความซับซ้อนเกินกว่าจะมีสูตรสำเร็จตายตัว ซึ่งแตกต่างจากการทดลองทางวิทยาศาตร์ที่มักจะได้ผลลัพธ์ที่แน่นอน ไม่ถูกก็ผิด

– โลกธุรกิจและการลงทุน มักไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผลเสมอไป คนที่รู้จักปรับตัวและเรียนรู้จากความผิดพลาด ย่อมเหนือกว่าคนที่ยึดติดในความฉลาดของตน

คนยุค Gen Y– ความคิดของเราก็เหมือนซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ถูกโปรแกรมไว้แล้ว ซึ่งมักจะให้คำตอบแบบเดิม

– คนจีนได้ชื่อว่าเป็นชาติที่รู้จักเก็บออม แต่สิ่งที่ทำให้คนจีนร่ำรวย คือ ความกล้าที่จะเข้าสู่โลกธุรกิจ กล้าที่จะแบกรับความเสี่ยง กล้าที่ยิ่งใหญ่

– เราต้องกล้าตั้งโจทย์ใหญ่ให้ชีวิต แล้วรองดิ้นรนดูบ้าง เผื่อจะค้นพบขุมทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ ที่เราละเลยมานาน

– ในโลกจริงไม่มีคำอธิบาย มีแต่สำเร็จกับล้มเหลว เราต้องสรุปบทเรียนเอาเอง

– การดิ้นร้นเป็นเช่นนี้เอง ไม่ได้ทารุณเพราะทำงานหนัก แต่โหดร้ายเพราะไม่รู้ว่าทำไมจึงผิดพลาด เราทำได้เพียงทดสอบ ทดลองเท่านั้น

– “สติปัญญา” เป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดในศตวรรษที่ 21

– มนุษย์ มักยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง นิ่เป็นขีดจำกัดในตัวเรา จึงทำให้ไม่สามารถมองสรรพสิ่งอย่างรอบด้าน อย่างที่มันเป็นไป ไม่ใช่อย่างที่เราต้องการให้เป็น

(คงจะประมาณว่า มองโลกอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้เป็น ทำยากอะ ฮ่าฮ่าฮ่า)

– อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป เพราะมัวแต่รอคอยทุกอย่างให้สอดคล้องกับตัวเรา

– ของดีเลิศ ย่อมมีคนที่รู้คุณค่าแล้วรีบฉวยคว้าไป จึงเหลือแต่ของดีปานกลางหรือย่ำแย่ ให้คนเชื่องช้า เพราะรอคอยความสมบูรณ์พร้อมได้เลือกสรร

– ความรักและการลงทุน จึงไม่ใช่เรื่องราวที่เราจะหลีกหนี หรือเอาแต่กลัว แค่กล้าที่จะเรียนรู้อย่างละเอียดลึกซึ้งโดยการเข้าไปสัมผัสอย่างจริงจัง ไม่หมกหมุ่นในอารมณ์และอคติส่วนตัว

(เปิดใจยอมรับในสิ่งที่เค้าเป็น เช่นเดียวกับยอมรับในสิ่งที่หุ้นเป็น คือ ล่วงลงจากดอย จ๊ากกก อันนี้รับไม่ได้ T.T)

กลยุทธ์การลงทุน

– ตลาดหุ้นไทยน่าจะสูงขึ้น ไปได้ระหว่าง 1,300-1,500 จุด ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า (ตอนนี้ปี 2013) โดยมีความผันผวนเป็นครั้วคราว เพราะกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของนักลงทุนต่างชาติ ในการย้ายภูมิภาคของเงินลงทุน

– นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะคิดในด้านเดียว คือ ถ้าเจอหุ้นที่คิดว่าดี ก็มักจะอยากซื้อไว้ โดยไม่พิจารณาให้รอบด้านว่าอาจมีคนเห็นต่างและอยากขายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราไม่มีวันรู้ หากไม่ลองเป็นฝั่งขายดูบ้าง

– การเข้ามาทดลองซื้อขาย โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำลองดูก่อน (เสียหายอย่างมากไม่เกิน 10%) จะช่วยเพิ่มเติมข้อมูลที่หายไปจากการวิเคราะห์ และเพื่อกำหนดทิศทางการซื้อขาย ได้ดีกว่ามองจากด้านเดียว จนสามารถตัดสินใจลงทุนได้ 100% อย่างจัดเต็ม

– โซรอส ไม่ได้มีสัญชาตญานที่ดีกว่าคนทั่วไป แต่กลับเป็น “ระบบคิด” ที่มีการตรวจสอบตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

– ในช่วงเริ่มต้นขาขึ้น นักลงทุนไม่ควรขายหุ้นทั้งหมดทิ้งและเล่นระยะสั้นอย่างเดียว หากต้องเก็บหุ้นที่มีต้นทุนต่ำไว้เล่นในระยะกลางและยาวด้วย (เพราะฉะนั้น ซื้อหุ้นที่ราคาไหน ปริมาณเท่าไหร่จดไว้ด้วย จะได้มาตัดขายได้ถูก)

– เจาะลึกไปในธุรกิจที่มีสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงกว่า ในราคาที่ถูกว่า (Better Product, Lower Price)

– นักลงทุน 4 ประเภท

1. นักลงทุนหุ้นปั่น : ขาใหญ่ครองเมือง

2. นักลงทุนหุ้นพื้นฐานแบบสวนตลาด (Contrarian Value Investor) : รู้ลึก รู้จริง และจิตนิ่ง

3. นักลงทุนหุ้นพื้นฐานแบบตามตลาด (Bullish Value Investor) : วิ่งตามเค้าไป

4. นักลงทุนหุ้นพื้นฐานแบบชั่วคราว (Temporal Value Investor) : เอ่ะ นิ่มันเม่าชัดๆ

– การลงทุนที่ดีไม่เคยเกิดจากความโลภที่เกินขอบเขต

– คุณสมบัติของนักลงทุนที่ดี ต้องมีการลงทุนด้านความรู้และวิธีคิดแบบเจ้าของกิจการ (Ownership Thinking) เพื่อจะตีแตกให้ได้ว่า บริษัทใดจะมีกำไรเติบโตต่อเนื่องใน 10 ปี ข้างหน้าและเหนือกว่าคู่แข่ง

– นักลงทุนจะต้องมองเห็นถึงยุทธศาสตร์ (แผนการลงทุนระยาวของบริษัท) และยุทธิวิธี (แผนระยะสั้นในการสร้างรายได้เพื่อมาหล่อเลี้ยงธุรกิจ) ของแต่ละบริษัท ที่จะแบ่งแยกว่าเป็นหุ้นที่ดีเลิศ ออกจากหุ้นที่พื้นเพธรรมดา

– หุ้นเติบโตเมื่อสร้างราคาขึ้นมา 3-5 เท่า ยอมมีชื่อเสียง นักลงทุนรายย่อยหมายจะเข้ามาจับจอง เป็นโอกาสให้นักลงทุนรายใหญ่ปล่อยของ แล้วต่อมากดราคาให้ลงมาหนักๆ  ให้รายย่อย กลัว คายของออกมาให้หมด ก่อนที่จะโตต่อไป

(ข้อนี้ ผมจำได้ว่า มีคนแนะนำให้ไปดู % การถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (% Free float) ถ้ายังไม่เกินสัก 30% แสดงว่า รายใหญ่เค้ายังไม่ปล่อยของนะ มีโอกาสวิ่ง)

*แนวคิด Bismarck

1. การสร้างระบบพันธมิตรและจัดสรรผลประโยชน์อย่างฉลาดสร้างสรรค์ รู้จักการขยายและเพิ่มพูนก้อนเค้กผลประโยชน์ด้วย ไม่ใช่สักแต่เพียงแย่งชิงก้อนเค้ก ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งน้อยต้องโกรธเคือง และนำไปสู่ความขัดแย้งที่มีต้นทุนที่แพงยิ่ง

2. การทำให้ศัตรูที่ปราชัยไม่อ่อนแอเกินไป จะกลายเป็นเบี้ยหมากให้ใช่ถ่วงดุลกับมหาอำนาจ และศัตรูที่เหลืออยู่ต่อไปได้อีก

ทองคำโดยประเด็นที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้คือเรื่อง “ราคาทองคำ” ซึ่งคุณเจริญชัย ได้มองตลาดทองคำได้อย่างแม่นยำทีเดียว เนื่องจากบทความของคุณเจริญชัย น่าจะเกิดก่อนเหตุการณ์ที่ราคาทองดิ่งหัวลงมาเมื่อวันที่ 12-15 เม.ย. ปี 2556 นั่นเอง (ปัจจุบันที่กำลังเขียนรีวิว อยู่เนี่ย ราคาก็กำลังจะกลับไป ณ วันที่ 15 เม.ย. อีกครั้ง) ประเด็นที่น่าสนใจคือ

– ราคาทองคำได้ขึ้นมาจนเกือบสุดรอบแล้ว ควรน่าจะปรับลง เพราะมั่นวิ่งขึ้นมาอย่างยาวนานเกือบ 10 ปี จุดที่ต้องระวังคือ ราคาลงแล้วอย่าเพิ่งไปรับ เพราะอาจลงต่อได้อีก ดูต่อที่มันลงลึกๆ แล้วค่อยรับ (ว่าแต่ตอนนี้มันลึกยังหว่า)

– ปัจจัยพื้นฐานของราคาทองคำ ในระยะยาวย่อมเป็นสัดส่วนเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ การที่บอกว่าราคาทองคำดีไม่มีตก จึงถูกต้องในระยะยาว เพราะเงินเฟ้อมีการปรับตัวขึ้นเสมอ ฉะนั้นเมื่อสังเกตุดูเวลาที่ราคาทองบางทีนิ่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ หลายปี ก็เป็นไปได้ว่ากำลังปรับตัวเพื่อให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อ และในทางกลับกันถ้าราคาทองคำมันขึ้่นมาอย่างต่อเนื่องแล้วละก็ มันก็จะเตรียมปรับสมดุลนั่นเอง แต่จะนิ่งหรือตกลง ก็ต้องดูกันต่อไป

– ทองคำ ยังไม่หมดหน้าที่ในการเป็นแหล่งของความมั่นคง ที่จะช่วยให้ชีวิตรอดได้ในภาวะวิกฤต แต่อาจจะต้องดูที่ราคาเข้า ในหนังสือแนะไว้ว่า ตำกว่า 10,000 จะน่าสนใจมั๊กๆ (ว่าแต่ มันจะลงไปถึงมั๋ยเนี่ยะ)

– จังหวะการลงทุนทองคำ ผ่านพ้นไปแล้ว เพราะครบกำหนด 10 ปี ทำไมจึงต้อง 10 ปี เพราะมันยาวนานพอที่นักลงทุนอาจจะลืมเลือนความเจ็บปวดของทศวรรษที่ 1980 ที่ราคาทองไหลลงอย่างรุนแรง (เพราะฉะนั้น ตอนนี้ เริ่มปี 2013 คือจังหวะขายดีที่สุด ป๊ะ แม่นไรยังงี้)

– ว่าแล้ว เราลองไปดูราคาทองคำกันดีกว่า (อันนี้ iYom หามาฝากเพิ่มเติม)

อัตราผลตอบแทนของทองคำเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ปี 1963-2012

Gold vs Inflation 1963-2012

ที่มา : aswathdamodaran.blogspot.com

ราคาทองคำย้อนหลัง 1997-2013 (ประมาณ 15 ปี)

ราคาทองคำ ปี 1997-2013

ราคาทองคำ พร้อมสัญญาณทางเทคนิค (ไม่วิเคราะห์นะครับ เพราะไม่เก่ง ให้ลองไปตีความกันดูครับ)

ราคาทองคำ พร้อมสัญญานทางเทคนิค ปี 2009-2013

ครับสำหรับ “เปิดโลกการลงทุนของคนยุค Gen Y” เล่มนี้ แม้จะไม่เน้นทฤษฎีการลงทุนมากนัก แต่เข้าใจได้ว่าคุณเจริญชัย คงต้องการแสดงให้เห็นว่า การที่จะเป็นนักลงทุน ไม่ใช่แค่เน้นเรืองทฤษฏีอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักปรับความรู้ต่างๆ รอบตัวเรามาใช้ในการลงทุนได้ด้วย สำหรับผู้สนใจลงทุนที่อ่านทฤษฎีมาแยะ เล่มนี้คงเป็นอีกเล่มที่อาจจะช่วยเชื่อมโยงความคิดในความรู้เรื่องต่างๆ มาปรับเปลี่ยนเป็นกลยุทธ์การลงทุนได้ ไม่มากก็น้อยครับ